เคยสังเกตกันไหมคะว่านอกจาก ความรู้สึกอยากอาหารของเรานั้นเกิดจากความหิวที่เป็นกลไกธรรมชาติของร่างกาย
แต่ก็ยังมีบางสิ่งที่เข้ามามีผลกระตุ้นความรู้สึกอยากอาหาร อยากลิ้มลองรสชาติ คงหนีไม่พ้นภาพถ่ายอาหารสวย ๆ หรือคลิปวิดีโอเมนูอาหารยั่วน้ำลายไหลต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เห็นตามสื่อโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงภาพอาหารบนโบชัวร์ของร้านอาหารอีกด้วย

แน่นอนว่าภาพสวยงามเหล่านี้ มีเบื้องหลังที่คอยรังสรรค์อาหารให้ออกมาหน้าตา ชวนรับประทาน นั้นก็คือ ฟู้ดสไตลิสท์ อาชีพที่อยู่เบื้องหลังแวดวงอาหาร ที่คอยแต่งแต้มสีสัน บรรเลงศิลปะบนจานเมนูอาหารนั้น ๆ ให้สวยงาม! ดึงดูดและกระตุ้นผู้คนให้เกิดความอยากบริโภคอาหารจานสวย
Food stylist คือ?
ฟู้ดสไตลิสต์ คือ นักดีไซน์เมนูอาหารให้ออกมาน่าทาน ผ่านภาพถ่าย โดยวางองค์ประกอบ จัดฉาก แสง สีสันต่าง ๆ ด้วยมุมมองแปลกใหม่สร้างสรรค์ให้เมนูอาหารมีหน้าตาที่น่าทานมากที่สุด
ซึ่งปัจจุบันนี้ ถือเป็นอาชีพ ตัวแปรสำคัญของวงการอาหารในยุคที่โซเซียลมีเดียมีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด
สามารถเข้าถึงผู้คนทั่วโลกได้อย่างแพร่หลาย และด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงไป มักจะดูภาพของเมนูอาหารก่อนตัดสินใจสั่งซื้อ
ยิ่งภาพถ่ายอาหารน่าทานมากเท่าไหร่ ยิ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากทานมากขึ้นเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการของธุรกิจอาหารมาก ๆ
ฟู้ดสไตลิสต์ จำเป็นต้องคุณสมบัติอะไรบ้าง?
เชื่อว่าหลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงเกิดคำถามขึ้นในใจว่าแล้ว ”ฟู้ดสไตลิสท์ จำเป็นต้องทำอาหารอร่อยด้วยไหม ถึงจะทำอาชีพนี้ได้?”
บอกเลยว่า ไม่จำเป็นต้องทำอาหารอร่อย หรือทำอาหารเก่ง ก็สามารถทำอาชีพ ฟู้ดสไตลิสต์ ได้ เพียงแค่มีคุณสมบัติครบตามที่ผู้จ้างต้องการ ก็สามารถเดินทางเข้าสู่สายอาชีพนี้ได้แล้ว
คุณสมบัติ
- มีใจรักชื่นชอบการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ คอยค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
- มีความคิดสร้างสรรค์และรู้จักการวางแผนขั้นตอนการทำงานได้อย่างชัดเจน
- ชื่นชอบการกิน เมนูไหนอร่อย ร้านไหนดัง ต้องตามไปเก็บ
- เข้าใจหลักการจัดวางองค์ประกอบของอาหารให้ออกมาสวยงามน่าทาน เช่น แสง สี พื้นผิว รูปทรงของวัตถุประกอบฉาก เป็นต้น
- รู้จักวัตถุดิบหรือวิธีการทำเมนูอาหารนั้นคร่าว ๆ เพื่อที่จะได้สร้างจุดเด่นให้ผลงาน
- เข้าใจวัฒนธรรมของอาหาร แต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศ เป็นอย่างดี
- รู้จักการใช้งานและเทคนิคของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยทำให้องค์ประกอบของภาพอาหารถ่ายออกมาสวย โดยไม่จำเป็นต้องใช้อาหารจริง ๆ เช่น ใช้สเปรย์เพื่อสร้างละอองน้ำ ให้อาหารสด, เฟรช เป็นต้น

อยากเป็น ฟู้ดสไตลิสท์ ต้องเรียนอะไร?
ความจริงแล้วสายอาชีพ ฟู้ดสไตลิสต์ ไม่ได้มีการกำหนดตายตัวค่ะ ว่าเรียนจบอะไรมาถึงจะสามารถประกอบอาชีพนี้ได้
เรียกได้ว่า คือ อาชีพที่ใครก็ทำได้ เพียงแค่มีทักษะ ไอเดียแปลกใหม่ และใจรักในการทำมากพอเท่านั้นเอง
แต่สำหรับใครที่อยากเดินทางเข้าสู่สายอาชีพนี้แบบเต็มตัว อยากขัดเกลาทักษะต่าง ๆ ให้เก่ง เพื่อที่มี ฝีมือดีอันดับต้น ๆ ที่ใคร ๆ ก็อยากร่วมงานด้วย ขอแนะนำสาขาที่เกี่ยวข้องกับ ศิลปะการออกแบบสื่อ และ การออกแบบอาหาร หรือ เรียนทำอาหารโดยตรงก็สามารถทำ Food stylist ได้เช่นกัน
สาขา และ มหาลัยที่เกี่ยวข้องในการเป็น ฟู้ดสไตลิสท์
- สาขาวิทยาศาสตร์การประกอบอาหารและการจัดการฯ คณะอุตสาหกรรมอาหาร >> สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- สาขาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร >> วิทยาลัยดุสิตธานี
- สาขาศิลปะและเทคโนโลยีการประกอบอาหาร >> มหาวิทยาลัยรังสิต
- โรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต (Le Cordon Bleu Dusit Culinary School)
- โรงเรียนการอาหารไทย เอ็ม เอส ซี (MSC) หลักสูตรระยะสั้น (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ)
และสาขาอื่น ๆ ที่เปิดสอนอีกมากมาย แต่ที่สำคัญทุกคนอย่าลืมเลือกสาขาที่ตัวเองถนัด กันด้วยนะ หรือ อาจจะเลือกเรียนเป็นโรงเรียนเปิดสอนเพิ่มเติมก็สามารถทำได้เช่นกัน
ฟู้ดสไตลิสต์ เงินเดือน ในไทย
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในไทยมาก ๆ เพราะมีการแข่งขันของธุรกิจด้านอาหารกันอย่างดุเดือด ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับการอาหารมีความต้องการ Food stylist เพื่อสร้างจุดเด่นให้ Branding ของตัวเอง
ดังนั้นค่าตอบแทนส่วนใหญ่ของ จะอยู่ที่ประมาณ 30,000 – 200,000 บาท ต่อเดือน/หรือต่อโปรเจ็ค หรือมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือ และประสบการณ์การสร้างศิลปะบนจานให้ออกมาสวยงามโดดเด่นไม่เหมือนใครด้วยนะ (ข้อมูลอัปเดตปี 2565)
ฟู้ดสไตลิสต์ ชื่อดัง ในไทย
เมื่อทำความรู้จักฟู้ดสไตลิสต์อาชีพที่ดีไซน์เมนูอาหารให้ออกมาน่ารับประทานผ่านภาพถ่ายแล้ว
All That’s Stylit ถือโอกาสนี้พาทุกคนมาทำความรู้จัก ฟู้ดสไตลิสท์แถวหน้าในเมืองไทยที่ควรรู้จัก ไว้คอยสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง เพื่อก้าวเข้าสู่อาชีพนี้อย่างมั่นใจกันค่ะ
1. Pimfun
Food stylist ที่มีประสบการณ์ในแวดวงศิลปะบนจานอาหารมากกว่า 10 ปี

2. คุณ กอล์ฟ เอกรินทร์ อยู่สุขสมบูรณ์
ผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ และเสาะหาร้านอาหารใหม่ ๆ เมนูแนะนำของร้าน นำเสนอผ่านผลงาน ที่มีองค์ประกอบของภาพ สี ฉาก ได้อย่างลงตัว เห็นแล้วอยากตามไปลิ้มลองรสชาติอาหารมาก ๆ

3. คุณ ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์
Food stylist หนุ่มสุดเท่ห์ ที่ดึงจุดเด่นของเมนูอาหารออกมาได้อย่างน่าสนใจ เป็นผลงาน ที่มองทีไร ท้องร้องทุกที

4. คุณ นิค-วิพิทธิจักษ์ พิทยานนท์
Food stylist ที่มีผู้ติดตามบนอินสตาแกรมกว่า 11.9K ด้วยผลงานภาพอาหารมีความคลีน ๆ สวยงาม ชวนน้ำลายไหล

5. Patcharaporn K.
ด้วยประสบการณ์และความเข้าใจถึงวัฒนธรรมของอาหารเป็นอย่างดี ทำให้ผลงานของ Patcharaporn K. หรือในนาม “The Pooh” ออกมามีความสะดุดตามาก ๆ จนอยากไปซื้อสินค้าตาม อีกทั้งยังมีผลงานถ่ายภาพแฟชั่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นสุด ๆ ค่ะ

สรุป
เป็นอย่างไรกันคะ กับอาชีพนี้ ถือว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจ และต้องอาศัยการทำงานที่หนักหน่วง สะสมทักษะ ประสบการณ์ เพื่อสร้างผลงานให้จานอาหารโดดเด่นไม่ซ้ำใคร
สำหรับใครที่สนใจอยากลองเข้าสู่การเป็น (ฟู้ดสไตลิสต์) ก็อย่าลืมศึกษา ทำความเข้าใจพื้นฐานการทำงานกันด้วยน้า สามารถลองดูสาขาวิชาที่แปะไว้ให้ในหัวข้อ อยากเป็น Food stylist ต้องเรียนอะไร? กันได้เลย
ที่สำคัญหัวใจหลักของการเป็น ฟู้ดสไตลิสต์ นอกจากมีความรู้แล้ว ยังต้องมีความสามารถ และเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตัวเองด้วยนะคะ ขยันทำการบ้าน และอัปเดตเทรนด์ที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ พิถีพิถันในการรังสรรค์ผลงาน เท่านี้คุณก็จะเป็น ฟู้ดสไตลิสต์ ที่มีชื่อเสียงได้ไม่ยากแล้วค่ะ